วันพฤหัสบดีที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2552

สองมาตรฐาน?

ผมเปิดโปรแกรม editor ว่าจะนั่งเขียนเรื่องนี้ตั้งแต่ช่วงสงกรานต์ แต่ก็มีเรื่องอื่นให้ไปติดตามควบคู่กับสถานการณ์บ้านเมือง (เรื่องงานซอฟต์แวร์เสรีครับ จังหวะเวลาของแผนงานมาชนกับช่วงนี้พอดี) สุดท้ายเลยไม่ได้กดแป้นพิมพ์ลงไปสักปุ่มเดียว

ในระหว่างที่เสื้อแดงก่อเหตุ ผมได้สังเกตเห็นปฏิกิริยาจากหลาย ๆ คน โดยเฉพาะจากฝ่ายเสื้อแดง เกี่ยวกับเรื่องการเรียกร้องให้คนที่เคยพูด เคยทำอะไรไว้ในสมัยเสื้อเหลือง ออกมาพูดมาทำให้เหมือนเดิมในสมัยเสื้อแดง โดยให้เหตุผลว่า เงื่อนไขสถานการณ์เหมือนเดิมทุกอย่าง

ผมกลับเห็นแย้ง เพราะถ้าเรามองให้ดี ๆ แล้ว จะพบว่ามันไม่ได้เหมือนกัน อีกทั้งในการเกิดเหตุการณ์ซ้ำสองนั้น ไม่จำเป็นที่คนเราจะต้องคิดเหมือนเดิม เพราะสิ่งที่แตกต่างกันในวาระทั้งสองคือเรื่องประสบการณ์

เริ่มจากเรื่อง ทางออกของปัญหา ก่อน หลายคนพุ่งเป้าไปที่ตัวนายกรัฐมนตรี เรียกร้องให้ยุบสภาหรือลาออก เพื่อหยุดเงื่อนไขของม็อบ โดยอ้างว่านายกฯ เคยเสนอแนะให้อดีตนายกฯ สมัคร ยุบสภาเมื่อคราวเสื้อเหลือง คราวนี้ก็ควรทำเหมือนที่ตัวเคยเสนอ

เรื่องนี้ผมเห็นว่าประเด็นปัญหาของเสื้อเหลืองกับเสื้อแดงไม่เหมือนกัน แม้ดูเผิน ๆ วิธีการจะคล้ายกัน แต่จุดประสงค์กลับต่างกัน เสื้อเหลืองนั้น พยายามทำทุกอย่างเพราะต้องการให้บรรลุจุดประสงค์ของพวกตนโดยตรง ในขณะที่เสื้อแดง ทำเพื่อท้าทายมาตรฐานของกระบวนการยุติธรรม

ดังนั้น ในขณะที่เป้าหมายของเสื้อเหลืองอยู่ที่ฝ่ายบริหารโดยตรง แต่เป้าหมายหลักของเสื้อแดงกลับอยู่ที่ฝ่ายตุลาการ โดยพยายามย้อนรอยสิ่งที่เสื้อเหลืองทำเพื่อทดสอบความยุติธรรม

ดังนั้น ทางออกของปัญหาที่ผมคิดในครั้งนี้ จึงไม่ได้อยู่ที่เรื่องตัวนายกฯ โดยตรงเหมือนครั้งก่อน แต่เห็นว่าควรเป็นฝ่ายตุลาการที่จะพยายามหยุดปัญหา (ที่ตนก็มีส่วนร่วมก่อ) นี้

ในระหว่างพูดคุยกับเพื่อนฝูง ผมจึงเสนอว่า แม้จะสายไปหน่อย แต่ฝ่ายตุลาการควรเร่งดำเนินคดีกับกลุ่มพันธมิตรฯ ให้เรียบร้อย การชะลอให้เนิ่นช้าในช่วงที่ผ่านมา ได้กลายเป็นเงื่อนไขที่เพาะบ่มการชุมนุมครั้งใหม่ของกลุ่ม นปช. และในครั้งนี้ ถ้าสามารถสร้างบรรทัดฐานได้ว่า การชุมนุมที่ละเมิดสิทธิและทรัพย์สินของบุคคลอื่นเป็นสิ่งผิด เราก็จะสามารถลดความชอบธรรมในการสร้างความวุ่นวายของ นปช. ได้เช่นกัน และแม้ในตอนนี้ นปช. จะได้ยุติการชุมนุมไปแล้ว ก็ไม่มีอะไรรับประกันได้ว่าเขาจะไม่กลับมาชุมนุมใหม่อีก การเร่งดำเนินคดีกับพันธมิตรฯ จึงยังเป็นสิ่งที่สมควรทำ

ยิ่งเมื่อคิดถึงอนาคตในระยะยาว ที่ลูกหลานจะจดจำตำนานเหลือง-แดงเป็นแบบอย่างให้เดินตาม หรือจะจดจำเป็นบทเรียน ก็ขึ้นอยู่กับการดำเนินการของกระบวนการยุติธรรมในครั้งนี้ด้วย

แต่ย้ำว่าต้องตัดสินอย่างยุติธรรมที่สุดนะครับ ประเด็นสำคัญอยู่ที่ความยุติธรรมนี้เอง

ประเด็นถัดมาคือเรื่อง การสลายการชุมนุม มีคนเปรียบเทียบท่าทีของเจ้าหน้าที่ตำรวจ-ทหาร โดยเฉพาะทหาร ที่มีต่อเสื้อเหลือง-เสื้อแดงอย่างแตกต่าง อันนี้ผมไม่อยากลงรายละเอียดมากนัก เพราะเป็นเรื่องภายในของเจ้าหน้าที่ ผมพูดแทนไม่ได้ แต่มีอีกส่วนหนึ่งคือท่าทีของผู้คนในการสนับสนุนการใช้กำลังสลายการชุมนุมมากกว่าครั้งก่อน ซึ่งน่าจะแสดงความเห็นได้ชัดเจนกว่า

ผมเชื่อว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องของประสบการณ์และจังหวะเวลา ในสมัยที่พันธมิตรฯ ชุมนุมนั้น คนไทยอดทนอยู่กับความเห็นที่แตกต่างมาเป็นแรมปี จนกระทั่งฟางเส้นสุดท้ายได้ถูกหย่อนลง เมื่อพันธมิตรฯ บุกยึดทำเนียบรัฐบาล อันเป็นหน้าเป็นตาของประเทศ เข้าไปกิน ไปทำนา ไปฉี่ไปถ่าย ปู้ยี่ปู้ยำกับสถานที่อย่างขาดความเคารพ จนรัฐบาลต้องระเหเร่ร่อนไปทำงานที่อื่น ตรงนี้ผมเชื่อว่า เป็นจุดเปลี่ยนจุดหนึ่งที่ทำให้คนกลุ่มใหญ่เบือนหน้าหนีจากพันธมิตรฯ หลังจากเอือมระอากับการอภิปรายโจมตีฝ่ายโน้นฝ่ายนี้ที่คิดต่างแม้เศษเสี้ยวแบบไม่เว้นหน้าอินทร์หน้าพรหมมาถ้วนหน้าแล้วก่อนหน้านั้น

ตรงนี้ผมเองก็ไม่อาจปฏิเสธได้ ว่าหลังจากอยู่ในสถานะกระอักกระอ่วนกับญาติสนิทมิตรสหายที่ไปร่วมขบวนการอันสุดโต่งนี้มานาน ผมก็เริ่มตัดสินใจได้ ว่าถึงจุดที่จะเริ่มต่อต้านเสื้อเหลืองเสียที โดยเริ่มติดแบนเนอร์ "เบื่อม็อบพันธมิตร" ในเว็บ แต่ก็ยังรู้สึกไม่สบายใจกับการปะทะกันกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ แม้ในใจจะลุ้นให้รัฐบาลดำเนินการเอาผิดกับพันธมิตรฯ ให้ได้ แต่ก็ยังไม่อยากเห็นความสูญเสียเลือดเนื้อของคนไทยด้วยกัน

แต่ในครั้งต่อมาที่เขาบุกยึดสนามบินสุวรรณภูมิ ผมไม่คิดอะไรอีกแล้ว ถ้าเขากล้าก่อความเสียหายให้กับประเทศชาติได้ครั้งแล้วครั้งเล่าขนาดนี้ ถ้าจะต้องใช้กำลังทหารเข้าสลายการชุมนุม ผมก็ไม่คัดค้านอีกแล้ว พอกันทีกับอภิสิทธิ์ชนที่ตู่อ้างความเป็น "ประชาชน" ในการละเมิดสิทธิและทรัพย์สินที่มาจากภาษีของประชาชนด้วยกันครั้งแล้วครั้งเล่า เขายังเห็นคนอื่นเป็น "ประชาชน" เหมือนเขาอยู่หรือเปล่า? การชุมนุม "โดยสงบ" จำเป็นต้องมีตัวประกันที่แพงขนาดนี้เชียวหรือ?

มันเป็นความรู้สึกเดียวกับคนที่ถูกขโมยขึ้นบ้าน แล้วต้องการให้ตำรวจจับคนร้ายมาลงโทษให้ได้

เอาล่ะ นั่นเป็นความเห็นส่วนตัวเมื่อคราวเสื้อเหลืองก่อการ คนอื่น ๆ จะคิดเห็นอย่างไรผมไม่ทราบ แต่แล้วพันธมิตรก็ได้เฮกับคำตัดสินยุบพรรคพลังประชาชน ทำให้อดีตนายกฯ สมชายต้องสิ้นสุดการเป็นนายกฯ ในที่สุด เป็นคำตอบที่ทำให้ผม "อึ้ง" ตะลึงงันเหมือนกัน สิ่งที่ผมคาดหวัง คือผู้ละเมิดกฎหมายต้องถูกลงโทษ ไม่ใช่ได้ประกาศชัยชนะบนความพินาศของประเทศชาติอย่างนี้

เมื่อถึงคราวเสื้อแดง ผมคิดว่าเขามาในช่วงที่ประชาชนกำลังเกิดประกายความหวังหลังวิกฤติเสื้อเหลืองผ่านไป ได้นายกฯ หนุ่มไฟแรง พร้อมทีมงานคุณภาพ อย่างน้อย ๆ ก็กำลังอยู่ในช่วงที่ให้โอกาสรัฐบาลได้ทำงานก่อน การชุมนุมของเสื้อแดงในจังหวะนี้จึงเป็นช่วงที่ไม่ค่อยมีใครอยากให้เกิด แต่พอเกิด มันก็เกิดอย่างรวดเร็ว

ภาพของเสื้อเหลืองยึดสนามบินยังติดตา ความขุ่นเคืองเสียขวัญยังไม่ทันจางหาย กลยุทธ์ที่จะ "ไม่ซ้ำรอยเสื้อเหลือง" ในช่วงแรก ๆ ของเสื้อแดง จึงทำให้เสื้อแดงไม่ถูกปฏิเสธมากนัก แต่เมื่อปรากฏเค้าลางของความเสียหายครั้งใหม่ ด้วยการปิดถนนทั่วกรุงเทพฯ ประสบการณ์ที่เพิ่งผ่านมาหมาด ๆ กับเสื้อเหลือง ทำให้ผู้คนตื่นตัวระแวดระวังภัยอย่างรวดเร็ว แล้วในที่สุด ความหวังใด ๆ ที่ยังมีต่อท่าทีของเสื้อแดงก็พังครืนทันทีในวันที่เขาบุกยึดโรงแรมรอยัลคลิฟฟ์บีช ซึ่งกำลังจัดประชุมสุดยอดอาเซียน

หนองเหลือง ๆ ไม่ทันแห้ง เลือดแดง ๆ ก็ทะลัก!

แน่นอนว่าทุกคนได้เป็นประจักษ์พยานกับเรื่องพรรค์นี้มาแล้วในคราวเสื้อเหลือง และได้เพ่งเล็งไปที่ความหละหลวมของเจ้าหน้าที่ตำรวจ-ทหารในสถานการณ์อย่างนั้นอยู่ก่อนแล้ว จึงไม่น่าแปลกใจ ถ้าผู้คนจะสนับสนุนให้รัฐบาลเร่งสลายการชุมนุมให้มีประสิทธิภาพกว่าคราวก่อน การเอารูปมาแฉว่าใครยิงใครยังไง เริ่มกลายเป็นมุกเก่าซ้ำซากของฝ่ายม็อบ ประสบการณ์ทำให้ผู้คนเริ่มรู้ทัน รวมทั้งการสร้างความเสียหายและการยั่วยุเจ้าหน้าที่มาก่อนหน้านั้น ก็ทำให้คลายความเห็นอกเห็นใจลง เปลี่ยนมาเห็นใจเจ้าหน้าที่แทน

ดังนั้น จะเห็นว่า เงื่อนไขที่ไม่ได้เหมือนกันเหล่านี้ ทำให้ความคิดของผู้คนต่อการสนับสนุนเจ้าหน้าที่ต่างกันอย่างช่วยไม่ได้ มันไม่ใช่เรื่องของสองมาตรฐานแต่อย่างใด ซึ่งอันที่จริง สำหรับผมโดยส่วนตัวตามที่เล่ามาข้างต้นแล้ว ก็เป็นมาตรฐานเดียวกัน แต่ความตื่นตัวอาจจะไม่เท่ากันเท่านั้น

พูดอย่างนี้ไม่ใช่ว่าผมสนับสนุนให้ใช้ความรุนแรงในการสลายการชุมนุม เพียงแต่เราจำเป็นต้องให้อำนาจต่อเจ้าหน้าที่ในการจับกุมผู้กระทำผิด ซึ่งไม่ทราบว่าเขาได้อ้างสิทธิ์ข้อไหนในการปิดการสัญจรของประชาชนอื่น ๆ ในการบุกยึดสถานที่ ในการทำลายชื่อเสียงของประเทศ ในการทำลายเศรษฐกิจของประเทศ และอื่น ๆ อีกมากมาย

ผมขอชื่นชมเจ้าหน้าที่ที่สามารถสลายการชุมนุมครั้งนี้ได้อย่างเรียบร้อยกว่าที่คิดไว้ และขอชื่นชมต่อความรับผิดชอบของแกนนำเสื้อแดงต่อผู้ร่วมชุมนุม ด้วยการยอมยุติการชุมนุมเสียเอง เป็นความกล้าที่น่านับถือมากสำหรับการตัดสินใจครั้งนี้

ป้ายกำกับ:

7 ความคิดเห็น:

เวลา 16 เมษายน 2552 เวลา 17:04 , Anonymous ! -MeO- ! กล่าวว่า...

ชอบคำนี้ครับ ^^

เขียนได้ดีครับพี่ เห็นด้วยเลย ไม่ว่าฝ่ายไหน สีไหน คนที่ช้ำก็คือประเทศไทย

 
เวลา 16 เมษายน 2552 เวลา 17:14 , Anonymous Somewhere Out There - กล่าวว่า...

ตอนนี้ก็คอยลุ้นให้กฏหมายมีตัวตนจริงๆ จะได้ไม่เกิดเหตุการณ์แบบนี้อีก ไม่ว่ากลุ่มไหนเป็นคนสร้างปัญหา

 
เวลา 16 เมษายน 2552 เวลา 23:10 , Anonymous Vee Satayamas กล่าวว่า...

เขียนได้ดีเหลือเกินครับ

 
เวลา 16 เมษายน 2552 เวลา 23:28 , Anonymous Pompoko Pompom กล่าวว่า...

เขียนดีจัง

งิงิ

ตรงใจ.....

แต่อย่างว่า ที่สมชายฯออก ไม่ใช่เพราะม๊อบ แต่เพราะศาล
และเราควรแก้ที่ รธน.

 
เวลา 17 เมษายน 2552 เวลา 21:48 , Anonymous Satit Karoonboonyanan กล่าวว่า...

อีกไม่นาน ประเทศไทยก็คงมีการชุมนุมรายวัน กลายเป็นแฟชั่นใหม่

ผมรู้สึกว่าประเทศไทยเหมือนเด็กวัยรุ่น กำลังเปลี่ยนผ่านจากวัยเด็กที่อยู่ในโอวาทและทำตามกฎเกณฑ์ที่วางไว้ ไปสู่วัยผู้ใหญ่ที่มีวิจารณญาณของตัวเอง และเป็นผู้สร้างกฎที่ยุติธรรม

จุดที่ยากที่สุดก็คือรอยต่อตรงนี้แหละ เด็กวัยรุ่นมักจะเกิดความสงสัยว่าทำไมผู้ใหญ่ถึงต้องตั้งกฎอย่างนี้อย่างนั้น ทำไมต้องเชื่อฟัง ทำไม่เราไม่ตั้งกฎของเราขึ้นมาเอง ประชาธิปไตยคืออะไร สิทธิมนุษยชนอยู่ที่ไหน เมื่อรวมกลุ่มก๊วนเพื่อนได้ก็ตั้งตัวเป็นแก๊งวัยรุ่น บางแก๊งออกแนวศิลปะ บางแก๊งชอบป่วนเมือง บางแก๊งมีงานอดิเรกร่วมกัน แต่บางแก๊งก็ชอบยกพวกตีกัน

วัยรุ่น มักจะวุ่นวาย แต่ไม่ผ่านความไร้ระเบียบของวัยรุ่น ก็ไม่สามารถเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีความคิดและวิจารณญาณได้

ไม่รู้อีกกี่ปีประเทศไทยถึงจะโตเป็นผู้ใหญ่สักที

 
เวลา 20 เมษายน 2552 เวลา 21:44 , Anonymous it me กล่าวว่า...

เห็นด้วยอย่างยิ่ง

 
เวลา 23 เมษายน 2552 เวลา 23:02 , Anonymous Oats Photo กล่าวว่า...

หาคนทีทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวมได้น้อยลงเต็มทีครับ ประเทศไทย.....

 

แสดงความคิดเห็น

สมัครสมาชิก ส่งความคิดเห็น [Atom]

<< หน้าแรก