วันอังคารที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

หิมะหอม

ชื่อของแม่คือ 雪香 อ่านสำเนียงจีนกลางว่า “เสว่เซียง” (xuěxiāng) แต้จิ๋วว่า “เซาะเฮียง” ซึ่งแปลตามตัวอักษรได้ว่า “หิมะหอม” หรือ “หอมราวหิมะ” แม่เคยถามว่า “รู้จักไหม หิมะหอมน่ะ?” พอดีเมื่อคืนอ่านพบบทกวีจีนชื่อ 梅花 (ดอกเหมย) ของ 王安石 (หวางอันสือ/เฮ้งอังเจี้ย) กวีสมัยซ่ง ที่ทำให้คิดว่าพบกับคำตอบหนึ่ง

   

梅花 《王安石》

ภาษาจีนตัวเขียนย่อ:

墙角数枝梅,
凌寒独自开。
遥知不是雪,
为有暗香来。

ภาษาจีนตัวเขียนเต็ม (เนื่องจากคนจีนแต้จิ๋วในไทยคุ้นเคยกับตัวเขียนเต็มมากกว่า):

牆角數枝梅,
凌寒獨自開。
遙知不是雪,
為有暗香來。

คำอ่านสำเนียงจีนกลาง:

เฉียงเจี่ยวซู่จือเหมย
หลิงหานตู๋จื้อไค
เอี๋ยวจือปู๋สื้อเสว่
เว่ยโหย่วอั้นเซียงไหล

คำอ่านสำเนียงแต้จิ๋ว:

เฉี่ยกักซู้กีบ๊วย
เหล่งฮั้งตกจื่อไค
เอี่ยวไจปุ๊กสี่เสาะ
อุ่ยอู่อั๊มเฮียงไล้
   

มีคำแปลเป็นไทยโดยเหล่าตั๊ง:

มุมกำแพงแฝงต้นเหมยสองสามกิ่ง
กำแหงยิ่งผลิดอกพราวแม้หนาวสั่น
รู้แต่ไกลหาใช่หิมะพลัน
ด้วยตรงนั้นกลิ่นหอมโปรยโชยตามมา

มี คำแปลเป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งเก็บความได้ครบถ้วนดี:

Plum blossom (Wang An Shi)

At a wall corner some plum trees grow;
Alone against cold white blossoms blow.
Aloof one knows they aren't the snow,
As faint through air soft fragrances flow.

   

ลองถอดความเองดูบ้าง

     
  • 牆角數枝梅 แปลว่า ที่มุมกำแพงมีพุ่มเหมยอยู่สองสามพุ่ม
  •  
  • 凌寒獨自開 แปลว่า ท่ามกลางความหนาวอันทารุณก็ยังเบ่งบานโดยลำพัง
  •  
  • 遙知不是雪 แปลว่า รู้แต่ไกลว่าไม่ใช่หิมะ
  •  
  • 為有暗香來 แปลว่า ด้วยมีกลิ่นหอมจาง ๆ โชยมา

ดอกเหมย หรือดอกบ๊วย เป็นดอกไม้ที่ได้รับเกียรติให้เป็นดอกไม้ประจำชาติจีน คนจีนชื่นชมความอดทนต่อดินฟ้าอากาศของดอกเหมย เพราะในยามที่ดอกไม้อื่นล่าถอยหลบความหนาวเย็นของหน้าหนาว เหมยกลับบานชูช่ออย่างไม่พรั่นพรึงกับหิมะและลมหนาว เป็นสัญลักษณ์ของความเข้มแข็งและอดทนของคนจีนได้เป็นอย่างดี เหมยมีทั้งดอกงาม มีทั้งผลที่ให้คุณค่าทางโภชนาการ เข้มแข็งอดทน เยี่ยงคนที่ภูมิใจในคุณค่าและศักดิ์ศรีของตน แต่เหมยก็ไม่งามฉูดฉาดหรือเด่นเป็นพิเศษ อุปมาดั่งคนดีที่ไม่โอ้อวดตัว กลับอ่อนน้อมถ่อมตน คุณลักษณะเหล่านี้คือบุคลิกภาพในอุดมคติตามค่านิยมจากวัฒนธรรมอันเก่าแก่ของคนจีน

จากรูปแบบฉันทลักษณ์จีน ชอบที่จะถอดเป็นกาพย์ยานี ๑๑ มากกว่า:

๏ พุ่มเหมยริมกำแพง
ผลิดอกแซงแข่งลมหนาว
รู้ใช่หิมะพราว
ด้วยหอมโปรยโชยลมมา ๚ะ๛
   
เครดิตภาพ: Jonathan Billinger / CC BY-SA 2.0

อ้างอิง:

     
  1. อ้างอิงตัวเขียนเต็มภาษาจีนของบทกวีดอกเหมยจาก: http://chaoping0216.spaces.live.com/blog/cns!D3B6A037AFC21D65!2136.entry
  2.  
  3. อ้างอิงตัวเขียนย่อภาษาจีน เสียงอ่านภาษาจีนกลางและแต้จิ๋ว และคำแปลไทยเป็นกลอนแปดจากหนังสือ ลูกหลานคนแต้จิ๋ว โดย เหล่าตั๊ง จัดจำหน่ายโดย ศูนย์หนังสือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  4.  
  5. คำแปลบทกวีดอกเหมยเป็นภาษาอังกฤษจาก: http://usa.mdbg.net/chindict/chindict.php?page=about
  6.  
  7. ข้อมูลคุณลักษณะของดอกเหมยในค่านิยมจีนจากหนังสือ สี่ยอดหญิงงาม ผู้พลิกประวัติศาสตร์จีน โดย ถาวร สิกขโกศล จัดพิมพ์และจัดจำหน่ายโดย บริษัทสร้างสรรค์บุ๊คส์ จำกัด

ป้ายกำกับ: ,

1 ความคิดเห็น:

เวลา 2 ธันวาคม 2564 เวลา 14:00 , Blogger ssmarter776655@gmail.com กล่าวว่า...

เยี่ยมมากคับ

 

แสดงความคิดเห็น

สมัครสมาชิก ส่งความคิดเห็น [Atom]

<< หน้าแรก