วันพุธที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2553

天頂一粒星 – บนฟ้ามีดาวหนึ่งดวง

แม่จ๋าช่วยหนูด้วย หนูกินกล้วยอยู่บนหลังคา ตกลงมา ทายาหม่อง ยี่สิบกล่อง ก็ไม่หาย ไปหาปู่ ปู่กินเหล้า ไปหายาย ยายตำหมาก กระเด็นใส่ปาก อร่อยจริงเอย

เพลงของเด็ก ร้องกันสนุก ๆ ไม่เอาความ ใช้คำง่าย ๆ ไม่ซับซ้อน ถ้าเป็นเพลงภาษาอื่น บางทีก็ใช้หัดภาษานั้น ๆ ได้เหมือนกัน

ไปเจอเพลง ทีเต้งเจ็กเหลียบแช (天頂一粒星 – บนฟ้ามีดาวหนึ่งดวง) ของคนแต้จิ๋วเข้า อารมณ์คล้าย ๆ กัน

               
ตัวเขียนย่อตัวเขียนเต็ม
天顶一粒星
地下开书斋
书斋门未曾开
阿奴哭欲食油堆
油堆未曾熟
阿奴哭欲食猪肉
猪肉未曾割
阿奴哭欲食番葛
番葛未曾柳
阿奴哭欲食阿老爹二杯酒
酒未激
欲食粟
粟未矮
欲食鸡
鸡未抬
欲食梨
梨未摘
阿奴哭了白白歇
白白歇。
天頂一粒星
地下開書齋
書齋門未曾開
阿奴哭欲食油堆
油堆未曾熟
阿奴哭欲食豬肉
豬肉未曾割
阿奴哭欲食番葛
番葛未曾柳
阿奴哭欲食阿老爹二杯酒
酒未激
欲食粟
粟未矮
欲食雞
雞未抬
欲食梨
梨未摘
阿奴哭了白白歇
白白歇。
คำอ่านแต้จิ๋วคำแปล
ทีเต้งเจ็กเหลียบแช
ตี่แอ๋คุยจือแจ
จือแจมุ้งบ่วยเจ่งคุย
อาโน้วเคาไอ้เจียะอิ่วตุย (1)
อิ่วตุยบ่วยเจ็งเซ็ก
อาโน้วเคาไอ้เจียะตือเน็ก
ตือเน็กบ่วยเจ่งกัวะ
อาโน้วเคาไอ้เจียะฮวงกัวะ
ฮวงกัวะบ่วยเจ็งลิ่ว
อาโน้วเคาไอ้เจียะอาเหล่าเตียหน่อปวยจิ้ว
จิ้วบ่วยเก็ก
ไอ้เจียะเฉ็ก
เฉ็กบ่วยเอย
ไอ้เจียะเกย
เกยบ่วยไท้
ไอ้เจียะไล้
ไล้บ่วยเตียะ
อาโน้วเค่าเลี่ยวแปะแปะเหียะ
แปะแปะเหียะ
บนฟ้ามีดาวหนึ่งดวง
พื้นดินข้างล่างเปิดโรงเรียน
ประตูโรงเรียนยังไม่เปิด
เด็กน้อยร้องอยากกินขนมไข่หงส์
ขนมไข่หงส์ยังไม่สุก
เด็กน้อยร้องอยากกินเนื้อหมู
เนื้อหมูยังไม่แล่
เด็กน้อยร้องอยากกินมันเทศ
มันเทศยังไม่ได้ที่ (2)
เด็กน้อยร้องอยากกินเหล้าสองจอกของท่านปู่
เหล้ายังไม่อุ่น (3)
อยากกินข้าวฟ่าง
ข้าวฟ่างยังไม่สี
อยากกินไก่
ไก่ยังไม่หาม
อยากกินสาลี่
สาลี่ยังไม่ปลิด
เด็กน้อยร้องไห้ไปร้อยร้อยจบ (4)
ร้อยร้อยจบ

(1) 堆 อ่านตามตัวอักษรว่า “ตุง” แปลว่า กอง แต่ในเพลงร้องว่า “ตุย” อาจจะเพื่อให้สัมผัสกับ “คุย” (開) และศัพท์ 油堆 นี้ เปิดพจนานุกรมไม่พบ แต่คาดว่าจะเป็นชื่อขนมไข่หงส์ ตามที่ได้ ค้น Google มา โดยมี เว็บที่ให้ข้อมูลใกล้เคียง (อีกเว็บหนึ่ง) หากไม่ถูกต้อง ผู้รู้กรุณาชี้แนะด้วย

(2) อ่านว่า "ลิ่ว" แปลว่า ต้นหางกระรอก หรือต้นหลิว และอีกความหมายหนึ่งคือ pleasure ในที่นี้พยายามแปลให้เข้ากับเนื้อความว่า “ได้ที่” ซึ่งอาจจะผิด ผู้รู้โปรดชี้แนะ

(3) อ่านว่า "เก็ก" แปลว่า กระเทือน, ยั่วยุ, แน่น, ดุเดือด ถ้าเป็น 激心 ก็คือ "เก็กซิม" ที่แปลว่ากลุ้มใจนั่นเอง ถ้า 激酒 (เก็กจิ้ว) ก็คือยั่วยุให้กินเหล้า ในที่นี้ ก็พยายามแปล 酒未激 ให้เข้าความเช่นกัน ว่า เหล้ายังไม่อุ่น ซึ่งอาจผิดก็ได้

(4) เนื้อเพลงที่พบในอินเทอร์เน็ตทั้งหมดใช้ว่า 白白歇 โดย 白 อ่านว่า “แปะ” แปลว่า ขาว หรือ ว่างเปล่า ซึ่งเป็นคนละตัวกับ “แปะ” อีกตัว (百) ที่แปลว่า “ร้อย” ส่วนคำว่า “เหียะ” (歇) แปลว่า หยุด หรือ ครั้ง ถ้าพูดว่า “แปะเหียะ” จึงนึกถึงความหมายว่า “ร้อยครั้ง” โดยธรรมชาติ แต่ทำไมเขาถึงเขียนด้วยตัว “ขาว” กันหมดก็ยังฉงนอยู่ หรือคำว่า “ขาว” อาจจะมีความหมายพิเศษในบริบทนี้ก็ไม่ทราบได้

ที่มา MV: YouTube

ป้ายกำกับ: ,

วันพุธที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2553

เพลงขับไม้บัณเฑาะว์

เคยเขียนไว้เมื่อตอนที่ blog เกี่ยวกับเพลงระบำมยุราภิรมย์ ว่ามีเพลงบรรเลงช่วงที่บรรยายถึงพระมหากษัตริย์เพลงหนึ่ง ฟังแล้วสง่างามมาก เป็นเพลงที่เคยใช้ประกอบละครโทรทัศน์เรื่อง “ลูกทาส” เคยใช้ในเรื่อง “สี่แผ่นดิน” ฉบับ modernnine เป็นทำนองเพลงธรรมศาสตร์เพลงหนึ่งด้วย แต่ไม่รู้ว่ามาจากเพลงไทยเดิมชื่ออะไร

ตอนนี้ทราบแล้วครับ จากข่าว 'ฟ้าหญิงจุฬาภรณ์' ทรง 'กู่เจิง' ในงาน “สายสัมพันธ์สองแผ่นดิน” ครั้งที่ 4 เพลงที่ 2 ที่ทรงบรรเลง ชื่อ “เพลงเผ่าไทย” นั่นเอง โดยในข่าวให้ข้อมูลว่ามาจากเพลงไทยเดิมชื่อ “ขับไม้บัณเฑาะว์”

ค้นไปค้นมา พบ กระทู้ thaikids.com มีผู้ให้ข้อมูลเยอะมาก สืบค้นเพิ่มเติมต่อไปก็ได้ความดังนี้

เพลงขับไม้บัณเฑาะว์นี้ เป็นทำนองเพลงเก่าสมัยอยุธยา มีอัตราจังหวะสองชั้น ใช้บรรเลงในวงขับไม้ อยู่ในตับเพลงเรื่องกระแตไต่ไม้ ซึ่งประกอบด้วยเพลงกระแตไต่ไม้ ขับนก และขับไม้บัณเฑาะว์ [tlcthai.com]

หลวงประดิษฐ์ไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) ได้แต่งขยายจากเพลงตับกระแตไต่ไม้สองชั้น เป็นสามชั้น กลายเป็นเพลงโหมโรงกระแตไต่ไม้ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๖ [anurakthai.com, websuntaraporn.com]

พระยาภูมีเสวิน (จิตร จิตตเสวี) แต่งเป็นเพลงเดี่ยวสำหรับซอสามสาย [tlcthai.com]

ครูมนตรี ตราโมท แต่งขยายจากเพลงขับไม้บัณเฑาะว์สองชั้นเป็นเพลงโหมโรง โดยแต่งเป็นทางกรอให้วงปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์ของกรมศิลปากรนำไปเล่นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๑ เพลงนี้มีความหมายในเชิงโน้มน้าวจิตใจให้สงบ มีปณิธานแน่วแน่ในการบูชาสิ่งศักดิ์ด้วยความเคารพ [tlcthai.com]

ฟังเพลงโหมโรงขับไม้บัณเฑาะว์ [phrapiyaroj.com]

ฟังเพลงขับไม้บัณเฑาะว์ฉบับมโหรี [phrapiyaroj.com]

ในทางดนตรีสากล ก็มีการประยุกต์ทำนองเพลงนี้ด้วย

พระเจนดุริยางค์ แต่งดนตรีประกอบภาพยนตร์ “พระเจ้าช้างเผือก” ใน พ.ศ. ๒๔๘๔ โดยมีเพลงเอกของเรื่อง ๕ เพลง คือ:

     
  • เพลงประจำพระเจ้าจักรา (King of the White Elephant) ใช้ทำนองเพลงศรีอโยธยา
  •  
  • เพลงเดินทัพของประเจ้าจักรา (Ayudhya Eternal) ใช้ทำนองเพลงขับไม้บัณเฑาะว์
  •  
  • เพลงดำเนินเรื่อง (His Majesty King Chakra) เป็นเพลงแต่งขึ้นใหม่
  •  
  • เพลงเกียรติยศ (The King is Here) แต่งขึ้นใหม่ ต่อมาครูสมาน กาญจนผลิน นำมาเขียนเป็นเกริ่นเพลง “สดุดีมหาราชา” ซึ่งใช้ประกอบภาพยนตร์เรื่อง “เรือนแพ” เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๗
  •  
  • เพลงลาวครวญ (A Maiden's of Hope) เป็นเพลงเก่าสืบทอดมาแต่สมัยอยุธยา
  •  
  • เพลงเชิดจีน (March of the Men of the North) เป็นเพลงเก่าที่พระประดิษฐ์ไพเราะได้ประพันธ์ไว้ มี ๔ ท่อนด้วยกัน พระเจนดุริยางค์นำเอาท่อนที่ ๓ มาใช้

และเพลงที่สองนี่เอง ที่เป็นการเรียบเรียงเพลงขับไม้บัณเฑาะว์ด้วยดนตรีสากล [pridiinstitute.com]

ฟังเพลงขับไม้บัณเฑาะว์ ฉบับพระเจนดุริยางค์ [oknation.net]

ฟังเพลงขับไม้บัณเฑาะว์ประยุกต์ บรรเลงโดยวง Bangkok Symphony Orchestra

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีเพลงประจำมหาวิทยาลัยเพลงหนึ่งชื่อ “อโยธยาคู่ฟ้า” ซึ่งใช้ทำนองเพลงขับไม้บัณเฑาะว์นี้

หม่อมหลวงอัศนี ปราโมช เรียบเรียงทำนองเป็นเพลง “ตื่นเถิดไทย” คำร้องโดย ท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาค [monofocus.in.th]

ป้ายกำกับ: